วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าจาก"คุก" คุยกันด้วยหัวใจ


วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7031 ข่าวสดรายวัน


เรื่องเล่าจาก"คุก" คุยกันด้วยหัวใจ


พลาดิศัย จันทรทัต




"เรือนจำ" หรือ "คุก" สถานที่คุมขังผู้กระทำผิดกฎหมาย แน่นอนไม่มีใครอยากจะเข้าไป ขาดอิสรภาพในการดำเนินชีวิต หลายคนนึกถึงภาพอันตรายและน่ากลัว

อย่างไรก็ตาม เรือนจำเองต้องมีหน้าที่บำบัดเยียวยา เพื่อให้ผู้ต้องโทษเห็นและสำนึกของโทษที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จะได้สำนึกผิดกลับตัว เมื่อพ้นโทษจะได้กลับคืนสู่สังคมเป็นพลเมืองดีต่อประเทศชาติ

มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันทำโครงการ "คุยกันด้วยหัวใจ" ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่าน "เครือข่ายพุทธิการ" ขออาสาเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับ "นักโทษ" ทั้งชายและหญิง ที่เรือนจำกลางนครปฐม

โดยหวังว่ากิจกรรมจะช่วยให้พวกเขาและเธอเหล่านั้น เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ตนเองมีอยู่ รวมทั้งการมองโลกในแง่ดี คิดดี ทำดี และมีความสุขเมื่อกลับออกไปสู่สังคมอีกครั้ง

ก่อนนำกิจกรรมและเรื่องราวภายในเรือนจำมาถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ชีวิตอีก ด้านใน "เรื่องเล่าจากเรือนจำ" ที่เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา

พร้อมทั้งจัดนิทรรศการกิจกรรมฝีมือนักโทษ อาทิ "ภาพวาด" ที่สะท้อนและแสดงความรู้สึก และ "ต้นไม้ฝากความกังวล" ที่เขียนระบายความรู้สึกลงในใบไม้

นภาพร ทองมา ผู้ประสานงานโครงการ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าไปทำกิจกรรมในเรือนจำว่า ด้วยความที่ตัวเองเป็นพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลนครปฐม ทุกเดือนต้องเข้าเรือนจำพร้อมด้วยจิตแพทย์ เพื่อดูแลคนไข้ที่ป่วยเป็นทางจิต แต่ศาลยังไม่ตัดสินว่าเป็นบุคคลวิกลจริต



จึงเห็นสภาพภายในเรือนจำอยู่ตลอด เมื่อทางกลุ่มริเริ่มโครงการนี้ จึงเล่าให้พยาบาลข้างในเรือนจำฟัง ทุกคนสนับสนุนและยินดีให้ความร่วมมือ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีสำหรับนักโทษ สุดท้ายจึงทำเรื่องขอเข้าไปทำกิจกรรมผ่านทางสถานพยาบาลของเรือนจำ

นภาพรเล่าว่า กิจกรรมที่ใช้อาจหนักบ้าง แต่จะมีเกมให้หัวเราะก่อนเวลาแบ่งกลุ่ม หรือก่อนกิจกรรมให้ผ่อนคลายให้เบิกบานก่อนเสมอ เช่น ออกกำลังกายแบบจีน "ชี่กง" หรือการนวดหน้าด้วยตนเอง เรียกว่า "ทำหน้าเด้ง" กิจกรรมเหล่านี้เน้นสร้างความสัมพันธ์ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างทีมงานกับนักโทษ

จากนั้นจึงเข้าสู่กิจกรรม ที่เน้นเรื่องการเรียนรู้ ทุกกิจกรรมไม่บอกว่าอะไรถูกผิด เมื่อนักโทษทำกิจกรรม แล้วจะเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่าง การให้นักโทษออกมาเล่าเรื่องที่อยากจะเล่า เมื่อเล่าจบ เพื่อนๆ จะช่วยกันหาความต้องการ อีกทั้งคนที่เล่าจะได้สำรวจตัวเองว่าต้องการอะไร เช่น เมื่อออกจากเรือนจำ จะประกอบอาชีพสุจริตเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ประพฤติตัวแบบเดิมอีก เพราะไม่อยากให้คนที่รักเสียใจ

ด้าน ศักดิ์สินี เอมะศิริ ธนะกุลมาส ผู้รับผิดชอบโครงการ ร่วมเล่าให้ฟังว่า เข้าไปทำกิจกรรม 2 ครั้ง แบ่งเป็นนักโทษชายและนักโทษหญิง อย่างละครั้ง ครั้งละ 3 วัน วัตถุประสงค์หลักคือการช่วยเหลือนักโทษ ให้เปิดใจปรับเปลี่ยนทัศนคติ



เพราะ นักโทษ 3,000 กว่าคน ไม่ค่อยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน หลายคนไม่เคยพูดกันเลย เราจึงจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เปิดใจแลกเปลี่ยนความคิดกัน

อย่างกิจกรรมคำนาม เราอยากให้นักโทษเข้าใจคำว่า "ความรู้สึก" หมายถึงอะไร เช่น คำว่า "แม่" ไม่ว่าจะเป็นนักโทษชายหรือหญิง เมื่อได้ยินคำนี้จะมีความรู้สึกผูกพัน บางคนถึงกับร้องไห้ แต่ในเรือนจำไม่มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องแบบนี้กัน พอมีโอกาสได้มาเล่าเรื่องพวกนี้ นักโทษจะรับรู้ว่า เพื่อนก็รู้สึกเหมือนที่ตนเองรู้สึก จะเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ทุกคนมีความรู้สึกในแง่บวกเมื่อพูดถึงแม่ ไม่มีในแง่ลบ ถ้าจะมีในเเง่ลบ ก็เป็นตัวเองที่ทำให้แม่เสียใจ

ศักดิ์สินี เล่าถึงความประทับใจในความคิดของนักโทษว่า ช่วงกิจกรรมภาพวาด แสดงความรู้สึก จะทำให้รู้จักพวกเขามากยิ่งขึ้น มีนักโทษคนหนึ่งวาดรูป "กระดานหมากฮอส" และอธิบายว่า เวลาจะเดินให้คิดให้ดี ถ้าเดินผิดจะพลาดและแพ้ไปเลย เหมือนกับตัวเขาที่คิดผิด เดินผิด จึงมีบทสรุปอย่างนี้

"บางคนวาดภาพพระอาทิตย์ เขียนข้อความว่า This is the sun แล้วบอกว่า สำหรับเขาทุกเย็นเวลาที่เข้านอน เขาจะหลับไปเลย แต่ถ้าพรุ่งนี้เช้า เขาตื่นขึ้นมาแล้วเห็นแสงอาทิตย์อยู่ เขามีความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่เพื่อวันต่อไป เพราะเขาติดนานที่สุดในเรือนจำ คือ 8 ปี อีกไม่นานคนที่เขารู้จักก็จะออกไปหมด แล้วเขาจะอยู่ด้วยอะไร แสงอาทิตย์จึงเป็นทั้งเพื่อนและความหวังของเขา" ศักดิ์สินี กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์เฉพาะที่นักโทษใช้กัน อาทิ จดหมายน้อย, ตักเม และ ใต้ราว ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตในคุกได้เป็นอย่างดี

ศักดิ์สินีอธิบายว่า จดหมายน้อย หมายถึง จดหมายที่นักโทษส่งให้กับนักโทษในแดนอื่นด้วยกัน ยกตัวอย่าง นักโทษหญิงส่งจดหมายให้นักโทษชาย ซึ่งเป็นการทำผิดกฎของเรือนจำ เพราะตามกฎถ้าส่งจดหมายให้คนข้างใน ต้องส่งทางไปรษณีย์ไปข้างนอก จ่าหน้าซองเข้ามาถึงคนข้างใน

แต่ตรงนี้พวกเขากลับแอบส่งถึงกัน จึงมีความรู้สึก ตื่นเต้น ท้าทาย เสี่ยง เพราะถ้าโดนจับได้ บทลงโทษอาจหนักถึงขั้นโดนกล้อนผม หรือโดนให้ไป "ตักเม" คือการทำโทษให้ไปตักอุจจาระ

"หรือจดหมายน้อยนี้จะส่งหากิ๊กด้วย ได้ความรู้สึกวาบหวิว ถือเป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่งว่า ถึงแม้ว่าในเรือนจำจะมีวิถีชีวิตที่ลำบาก คนข้างนอกมองว่าโหดร้าย แต่นักโทษก็เป็นมนุษย์ ที่แสวงหาหนทางให้ตัวเองมีความสุข" ผู้ประสานงานโครงการกล่าว

ภายในเรือนจำมีทั้งความเครียด ความกดดัน แต่นักโทษก็คือปุถุชนเหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ต้องการความรักความเข้าใจ โครงการนี้จึงเป็นการแนะแนว สร้างภูมิต้านทาน และเตรียมความพร้อม ก่อนพวกเขาจะกลับสู่สังคม เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีอีกครั้ง


หน้า 6
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdOREk0TURJMU13PT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1DMHdNaTB5T0E9PQ==

--
โปรดอ่าน blog
www.pridiinstitute.com
www.nakkhaothai.com
www.pcpthai.org
http://wdpress.blog.co.uk
http://rsm2009-rsm2009.blogspot.com
http://twitter.com/sweetblog
http://twitter.com/oknewsblog
http://twitter.com/okblogger
http://twitter.com/sat191
http://www.pacc.go.th/
http://twitter.com/okblogchan
http://twitter.com/sun1951
http://twitter.com/smeblogger
http://twitter.com/seminarblog
http://twitter.com/sunnewsblog
http://twitter.com/okworldblog
http://twitter.com/ktblogger
http://twitter.com/sundayblog
http://twitter.com/mondayblog
http://twitter.com/tuesdayblog
http://twitter.com/wednesdayblog
http://twitter.com/thursdayblog
http://twitter.com/fridayblog
http://twitter.com/saturdayblog
www.youtube.com/user/naiissarachon#p/a/u/0/34ZvscsnCbA

ภิกษุณีธัมมนันทา บนเส้นทางจิตวิญญาณ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7031 ข่าวสดรายวัน


ภิกษุณีธัมมนันทา บนเส้นทางจิตวิญญาณ


นุเทพ สารภิรมย์




มูลนิธิ โกมลคีมทอง ก่อตั้งมานานกว่า 35 ปี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมบุคคลที่มีความเสียสละเพื่อสังคม ตามแบบอย่าง "ครูโกมล คีมทอง" ที่อุทิศตนเป็นครูอยู่ในถิ่นทุรกันดารจวบจนวาระสุดท้าย

ในปีนี้ มูลนิธิโกมลคีมทอง มอบรางวัลบุคคลเกียรติยศ ให้แก่บุคคลที่เสียสละทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม ประกอบด้วย 1.สุธาสินี น้อยอินทร์ หรือ "แม่ติ๋ว" ผู้ก่อตั้งบ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์

2.วัชรี เผ่าเหลืองทอง ผู้อุทิศตนต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อคนชั้นล่าง และเพื่อธรรมชาติ

3.นายประดิษฐ์ ประสาททอง ผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงกลุ่มละครมะขามป้อม ในเชิงสร้างสรรค์สังคม

4.เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่ร่วมรณรงค์ต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

แต่ไฮไลต์สำคัญ คือ ปาฐกถาโกมลคีมทอง ประจำปีพ.ศ.2553 ที่จัดเป็นประจำขึ้นทุกปี โดยเชิญผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมมาเป็นองค์ปาฐก ถ่ายทอดแนวคิดและจิตวิญญาณ

ปีนี้เป็นครั้งที่ 36 ทางมูลนิธิ นิมนต์ "ภิกษุณีธัมมนันทา" มาปาฐกถาในหัวข้อ "บนเส้นทางการพัฒนาจิตวิญญาณ การหล่อหลอม และการกำหนดเส้นทางชีวิต"

ชื่อเดิมของท่านคือ "รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ เกิดปีพ.ศ.2486 เป็นบุตรของนายก่อเกียรติ ษัฏเสน อดีตส.ส.ตรัง และนางวรมัย กบิลสิงห์ ซึ่งภายหลังได้บรรพชาเป็นภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ นิกายมหายาน ที่ประเทศไต้หวัน

จบการศึกษาจากโรงเรียนราชินีบน และปริญญาตรีสาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ได้รับทุนรัฐบาลแคนาดาไปศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา และมหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย

ต่อมาในปีพ.ศ.2512 เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2516-2543



ในระหว่างนั้น อาจารย์ฉัตรสุมาลย์ มีผลงานทางวิชาการ เขียนบทความธรรมะ รวมถึงเป็นพิธีกรรายการธรรมะ และเป็นผู้แปลหนังสือ "ลามะจากลาซา" ของ ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต อีกทั้งยังทำงานด้านพุทธศาสนาเพื่อผู้หญิงมาโดยตลอด

อาจารย์ฉัตรสุมาลย์ ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อเข้าบรรพชาเป็นภิกษุณี โดยคณะภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ สยามนิกาย ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อเดือนมี.ค.2544 ได้รับฉายาว่า "ธัมมนันทา"

ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ที่ "วัตรทรงธรรมกัลยาณี" ต.พระประโทน จ.นครปฐม

แม้ "สามเณรี" และ "ภิกษุณี" จะไม่ได้รับการรับรองสถานะจากคณะสงฆ์ไทย แต่ภิกษุณีธัมมนันทา หรือ "หลวงแม่" ก็ยังคงยืนหยัดด้วยจิตวิญญาณแน่วแน่ และมั่นคงเพื่อพุทธศาสนา

ถ้อยความต่อไปนี้คือ "บนเส้นทางการพัฒนาจิตวิญญาณ การหล่อหลอม และการกำหนดเส้นทางชีวิต" โดยหลวงแม่

คนเราทุกคนต้องมีรากเหง้าของตนเอง แม้แต่ต้นไม้ก็ยังต้องมีรากเหง้า อย่างต้นข้าวจะมีรากที่มีขนาดยาวเป็น 2 เท่าของลำต้น เพื่อดูดซับแร่ธาตุมาเลี้ยงเมล็ดข้าว หรือแม้แต่ต้นไม้ที่สูงใหญ่ต้องมีรากที่หยั่งลึก เพื่อยึดติดกับพื้นดินให้มั่นคง เพราะต้นไม้ยิ่งสูงมากเท่าใด ทั้งลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ จะต้องเผชิญกับแรงลมที่ถั่งโถมเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ต้นไม้ใหญ่จึงต้องมีรากที่มั่นคงและแข็งแรง

ครั้งหนึ่งอาตมาเคยพบเห็นต้นกล้วยที่อยู่รวมกันเป็นดงเบียดเสียดกัน ทำให้ไม่แข็งแรงเจริญเติบโต บางต้นก็ล้มเอนไม่มั่นคง แต่เมื่อมีการตัดแต่งบริเวณใต้ลำต้นให้โล่ง ไม่เบียดเสียดกัน ลำต้นนั้นก็จะแข็งแรงให้ลูกที่ดก และเมื่อต้นหนึ่งตาย อีกต้นก็สามารถเติบโตขึ้นมาทดแทนได้อย่างสมบูรณ์



ดังนั้นจะเห็นว่า รากมีความสำคัญกับต้นไม้อย่างไร รากเหง้าของคนเราก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะตัวตนที่แท้จริงของเรา มักจะมองไม่เห็นรากเหง้า เช่นเดียวกับต้นไม้ที่เราก็มองไม่เห็นราก เราจึงต้องดูแลฟูมฟักรักษารากเอาไว้ให้ดี ให้สมบูรณ์และแข็งแรง

ครอบครัวรากเหง้าของอาตมา แต่เดิมก็เป็นนักต่อสู้ มีเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของคุณยาย ในอดีตเวลาโจรจะขึ้นมา จะมาปิดประกาศให้เจ้าบ้านรู้ จะไปแจ้งความกับตำรวจ หรือนายอำเภอก็ไม่ทัน จึงต้องดูแลกันเอง กาลครั้งนั้นคุณยายกับน้องสาว ได้นำเอาผ้าที่เปื้อนเลือดไปแขวนไว้ที่ประตู เมื่อหัวหน้าโจรผ่านประตูเข้ามา มนต์ขลังของวิเศษที่ติดตัวมาจึงเสื่อม คุณยายอาตมาจึงใช้มีดฟันหัวหน้าโจรจนเสียชีวิต ส่วนลูกน้องโจรได้หนีถอยกลับไป

ส่วนคุณปู่ทวดซึ่งเป็นชาว จ.ตรัง ได้แสดงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ขึ้นเปรียบมวยชกกับคนต่างถิ่น ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามหาว่า ไม่มีคนตรังมีความสามารถทางมวย คุณปู่ทวดจึงอาสาขึ้นชก แม้จะตัวเล็ก แต่เมื่อขึ้นเวทีชก อาศัยความคล่องแคล่วว่องไว และสมาธิ ใช้เวลาไม่ถึงนาที สามารถชกนักมวยต่างถิ่นจนล้มคว่ำ ต่อมาจึงได้เป็นนายอำเภอ เป็นที่รู้จักไปทั่ว จ.ตรัง

จนมาถึงคุณปู่ซึ่งเป็นคนดี มีความกล้าหาญ จนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ คนแรกของ จ.ตรัง จากนั้นส่งต่อให้กับคุณพ่อ แต่พอมาถึงอาตมา เราก็ปฏิเสธไม่อยากยุ่งเรื่องการเมือง ทุกเสียงของคุณพ่อ จึงเทคะแนนทั้งหมดไปให้นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี

จะเห็นได้ว่า เส้นทางในการต่อสู้ของครอบครัวอาตมานั้น มีความหลากหลาย ดังนั้นเลือดของนักต่อสู้ ความเด็ดเดี่ยวของรากเหง้าอาตมา อยู่ในสายเลือดมาโดยตลอด เพราะถึงแม้จะไม่ได้เข้าสู่เส้นทางการเมือง แต่อาตมาก็เลือกเส้นทางสายนักวิชาการ เพราะช่วงที่เข้ามาสอนเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องใช้ความอดทน ข่มใจไม่แสดงตัวว่า เรามีแม่ที่บวชเป็นภิกษุณี

ช่วงนั้นต้องใช้ชีวิตแบบคน 2 โลก โลกหนึ่งคือสอนหนังสือ เขียนตำราวิชาการ อีกโลกหนึ่งต้องอยู่ที่วัด เพื่อศึกษาหาข้อมูล และเพื่อดูแลหลวงแม่ ภิกษุณีวรมัย และตอนนั้นเริ่มได้รับอิทธิพลในการต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องราวของผู้หญิงมาก มาย กระทั่งเมื่อได้บวชเป็นภิกษุณี จึงต้องปล่อยวาง รักษาจิตใจให้สงบ และเป็นกุศล

อนาคตเราไม่รู้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น แม้แต่อาตมาเอง ยังเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ช่วงนั้นคิดอย่างเดียวว่า บุญรักษา พระรักษา จึงรอดมาได้ หลังจากนั้นจึงได้กำหนดเส้นทางชีวิตด้วยการอุทิศตนเพื่อสังคม และพระพุทธศาสนา

แม้ช่วงที่บวชกลับมาใหม่ จะโดนโจมตีอย่างมาก แต่เราก็ไม่หวั่นไหว ยึดเพียงหลักคำสอนพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเรามั่นคงในธรรมะ ธรรมะก็จะรักษาเราได้ และหากเราชื่อในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็จะปกป้องเราให้พ้นจากภัยพาลทั้งหลายได้

ช่วงแรกสื่อพยายามที่จะผลักดันให้เราออกมาต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง แต่เมื่อย้อนกลับมาคิด จึงรู้ว่าเรานั้นเองที่ตกเป็นเหยื่อ กว่าจะรู้ตัวตนของตัวเองก็โง่ไปเยอะ แต่ความโง่ในครั้งนั้น กลับทำให้เราพัฒนาตัวเองได้มาก แต่ทุกสิ่งที่อาตมาทำนั้นยืนยั่นว่า ทำเพื่อพระพุทธศาสนา และหลังจากนี้จึงไม่คิดจะต่อสู้กับใครอีกทั้งสิ้น


หน้า 5
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNVEk0TURJMU13PT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1DMHdNaTB5T0E9PQ==

--
โปรดอ่าน blog
www.pridiinstitute.com
www.nakkhaothai.com
www.pcpthai.org
http://wdpress.blog.co.uk
http://rsm2009-rsm2009.blogspot.com
http://twitter.com/sweetblog
http://twitter.com/oknewsblog
http://twitter.com/okblogger
http://twitter.com/sat191
http://www.pacc.go.th/
http://twitter.com/okblogchan
http://twitter.com/sun1951
http://twitter.com/smeblogger
http://twitter.com/seminarblog
http://twitter.com/sunnewsblog
http://twitter.com/okworldblog
http://twitter.com/ktblogger
http://twitter.com/sundayblog
http://twitter.com/mondayblog
http://twitter.com/tuesdayblog
http://twitter.com/wednesdayblog
http://twitter.com/thursdayblog
http://twitter.com/fridayblog
http://twitter.com/saturdayblog
www.youtube.com/user/naiissarachon#p/a/u/0/34ZvscsnCbA